นมแม่ : นโยบาย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

 สารบัญ

  • เดย์แคร์ นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ
  • ที่มาและความสำคัญ
  • ระบบบริการเดย์แคร์ นมแม่คุณภาพ
    • ความจำเป็นสำหรับส่งเสริมลูกคุณภาพ
  • เดย์แคร์ นมแม่คุณภาพ ต้องมีการดำเนินอะไร
    • การดำเนินการให้เกิดต้นทุนสุขภาวะที่ดี
    • การดำเนินการให้เกิดต้นทุนคุณลักษณะ พร้อมอยู่ ในศตวรรษที่ 21
  • รูปธรรมการจัดบริการนมแม่คุณภาพ
    • ตัวอย่างรูปธรรม กิจกรรมที่ควรจัดให้มีในการเลี้ยงดูเด็กรายวั
  • เรามีเดย์แคร์นมแม่ มากน้อยอย่างไร ขยายผลจะเป็นไปได้อย่างไร
  • ข้อเสนอเชิงนโยบาย

เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ 

          ในยุคที่เด็กเกิดน้อยลง จนการส่งเสริมการมีบุตรจะถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ในพศ. 2566  สังคมมีการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขอย่างกว้างขวาง และพบว่าขบวนการส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเติบโตมีอย่างมีสุขภาวะดี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ1 แม้การจะเติบโตอย่างมีคุณภาพดังกล่าวจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในทุกกลุ่มวัย แต่กลุ่มเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเติบโตสูงสุด2  พบว่าถ้าสามารถให้ได้รับ อาหารและการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ จะสามารถเกิดการฝังต้นทุนพฤติกรรมสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ ทักษะสังคม และสติปัญญาที่ดี เป็นฐานสำคัญในการก้าวต่อสู่การเติบโตอย่างมีสุขภาวะในวัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการศึกษาระยะยาวยืนยันว่าถ้าลงทุนในช่วงอายุนี้จะให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่สูงที่สุด3 

          ขบวนการส่งเสริมลูกเติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญเบื้องต้นคือ ความพร้อมของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ข้อมูลรายานสถานการณ์เด็กและสตรีประเทศไทย พ.ศ. 2565 4 พบว่า เด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อยู่กับแม่ และผู้ดูแลหลักเป็นปู่ ย่า ตา ยาย มีมากถึงร้อยละ 70.6 เด็กเล็กขวบปีแรกและเด็กช่วงอายุ 2-4 ปี มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 27 และ 80.4 ตามลำดับ ในด้านสุขภาพพบ ทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 6 เดือนแรก เพียงร้อยละ 28.6 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกรน ร้อยละ 12.5 มีพัฒนาการสมวัยเพียง     ร้อยละ 77.8 เด็กเล็กได้รับการอบรมโดยมีการลงโทษทางกายและจิตใจอย่างรุนแรง อย่างใดอย่างหนึ่งร้อยละ 47.6 ไม่นับผลกระทบที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง ตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี่และสิ่งแวดล้อม 5 ข้อมูลและผลลัพธ์เหล่านี้ ยืนยันข้อจำกัดของครอบครัวในการให้การเลี้ยงดูเด็กทั้งในด้านคนเลี้ยงดู ความรู้และวิธีเลี้ยงดู กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของเดย์แคร์ทารกและเด็ก 3 ขวบปีแรก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเห็นเป็นโอกาสในการสนับสนุนการนโยบายดังกล่าวในรูปแบบ การให้ความสำคัญกับการ   จัดให้มีเดย์แคร์ใกล้บ้านและการกำหนดคุณภาพเดย์แคร์ที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดขบวนการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาวะและคุณลักษณะพร้อมอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ในที่นี้เรียกว่า “เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ” เพื่อให้มีความพร้อมเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผล  แนวทางของรูปแบบได้มาจากการประมวล 1) ข้อมูลวิชาการขบวนการให้อาหารโดยเฉพาะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารตามวัย ไม่ปฏิเสธผัก 2) ข้อมูลกรอบการเลี้ยงดูเด็กเล็กอย่างเอาใจใส่ เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน (nurturing care framework WHO.2018) ซึ่งสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานเด็กปฐมวัยแห่งชาติ  3) ประสบการณ์มูลนิธิฯ โครงการยกระดับ สถานพัฒนาเด็ก 3 ขวบปีแรก เน้นส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ จำนวน 7 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค7  จึงขอเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ คือ 1) บรรจุการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในกลวิธีส่งเสริมลูกคุณภาพ 2) เร่งรัดการพัฒนาครูพี่เลี้ยงให้มีความเข้าใจและมีทักษะการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ตามกรอบการให้การดูแลอย่างเอาใจใส่ขององค์การอนามัยโลก7 และมีกลวิธีการเลี้ยงดูเหมาะกับบริบทท้องถิ่น 3) เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพต้นแบบ อย่างน้อย 1 แห่ง    ในทุกเขตสุขภาพ และมีการขยายผลครอบคลุมร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี 4) ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญการบูรณาองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะทางการแพทย์ รายละเอียดข้อมูล อยู่ในท้ายเอกสารนี้

1. ที่มาและความสำคัญ

          รัฐบาลปัจจุบัน (สิงหาคม 2566)  กำหนดให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ  เนื่องจากมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลงมากอย่างต่อเนื่องประกอบกับในยุคปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดลดลง จากเกิดปีละประมาณ 1 ล้าน เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ลดลงแตะหลัก 7 แสนคน ใน พ.ศ. 2560 และเพียง 4 ปี คือ ณ พ.ศ. 2564 เด็กเกิดเพียงปีละ 544,570 คน และ พ.ศ. 2565 มีเด็กเกิดเพียง 460,496 คน อัตราการเจริญพันธุ์รวม (total fertility rate-TFR) ลดลงเหลือเพียง 1.1 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับระดับทดแทนซึ่งอยู่ที่ 2.1 คน* ในขณะที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ จากการประชุมเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย: ปัญหาและทางออก” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.กย. 2566) พบว่าขบวนการส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเติบโตอย่างมีสุขภาวะดี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกได้กำหนด เป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี สำหรับ   ทุกคนในทุกช่วงวัย (ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)    

          การจะส่งเสริมให้เด็กมีการเติบโตอย่างมีสุขภาวะดี ควรต้องเริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต คือช่วงเด็กกลุ่มปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่ม 3 ขวบปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด มีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงมากโดยใช้ความพยายามน้อยสุดเมื่อเทียบกับในช่วงวัยอื่น (ภาพที่ 1) เป็นช่วงที่สมองมีความยืดหยุ่นสามารถซึมซับประสบการณ์ที่ได้รับจากขบวนการเลี้ยงดู อากัปกิริยาของผู้เลี้ยงดู สภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่เรียกว่า “ซึมซับรับไปไม่รู้ตัว” และจะถูกบันทึกในโครงสร้างสมองที่มีการเติบโตมากถึง ร้อยละ 80 ดังกล่าว การได้รับอาหารและการเลี้ยงดูคุณภาพ การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการเลี้ยงดู มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ไม่สร้างความกดดันที่นำสู่ความเครียด การสร้างความมั่นใจ จะมีผลต่อการเพิ่มความหนาแน่นของการเชื่อมต่อและวงจรประสาทอย่างมีคุณภาพ แม้ในวัยนี้เมื่อโตขึ้นจะจำไม่ได้ ในทางจิตวิเคราะห์ พบว่าไม่หายไปไหนแต่จะมีการฝังจำในระดับจิตใต้สำนึก การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง จะช่วยให้เด็ก

          *อัตราเจริญพันธุ์รวม ที่ 2.1 หมายถึงผู้หญิงคนหนึ่งมีบุตร 2.1 คนโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิต จะเท่ากับที่จะทดแทนพ่อแม่ได้  มีการเติบโตอย่างมีสุขภาวะ ช่วยป้องกันทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาจิตพยาธิสภาพ (psychopathology) ในอนาคตขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดู มีอิทธิพลต่อการแสดงออก พฤติกรรม ลักษณะนิสัย มากกว่าจากอิทธิพลของยีนส์ที่เรียกว่า epigenetics ซึ่งยืนยันได้จากข้อมูลการศึกษาระยะยาว 35 ปี ที่พบว่าการลงทุนการดูแลที่ดี (อาหาร และการเลี้ยงดู) จะเกิดผลดี ต่อสุขภาพ อาชีพ รายได้ IQ และลดปัญหาอาชญากรรมให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าลงทุนในการเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก จะมีผลตอบแทน (ROI- Return of Investment) ถึง 6.7-17.6 เท่าของการลงทุน ยิ่งลงทุนตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ยิ่งให้ผลคุ้มค่า ให้ผลตอบแทนสูงถึง 17 เท่า และเมื่อเทียบระหว่าง ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก กับช่วงอายุ 4-5 ขวบปีแรก ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกจะให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 13 ในขณะที่ถ้าลงทุนในช่วงเด็ก 5 ปีลงมาจะเป็นร้อยละ 7 ( Heckman s study , University of Chicago) ดังนั้นในยุคที่เด็กเกิดน้อย ประชาชนเลือกที่จะไม่มีลูกซึ่งจะส่งผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ การสร้างความมั่นใจว่าถ้ามีลูก รัฐบาลจะมีระบบช่วยในขบวนการการส่งเสริมให้เด็กเกิดและอยู่อย่างมีคุณภาพ (สุขภาวะที่ดี) จึงเป็นที่มาขอการเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย  เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ 

2. ระบบบริการเดย์แคร์นมแม่คุณภาพ 

ความหมาย

เดย์แคร์ ในที่นี้หมายถึง สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือ ศูนย์เด็กเล็ก กลุ่มเด็กเล็ก 3 ขวบปีแรก

เดย์แคร์นมแม่ หมายถึง เดย์แคร์ที่มีรูปธรรมระบบการจัดบริการที่รองรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งการให้อาหารตามวัย  ควบคู่นมแม่จนอายุ 2 ปีหรือมากกว่า  ร่วมกับการเลี้ยงดู

เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ   หมายถึง เดย์แคร์ที่มีรูปธรรมระบบการจัดการที่รองรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอาหารตามวัยดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับ มีขบวนการเลี้ยงดูที่ให้ความสำคัญกับการฟูมฟักการเลี้ยงดูคู่กับการเรียนรู้และการฝึกทักษะในมิติต่าง ๆ เพื่อให้มีต้นทุนสุขภาวะที่ดี ร่วมกับต้นทุนคุณลักษณะพร้อมอยู่ในศตวรรษที่ 21    

ความจำเป็นสำหรับการส่งเสริมลูกคุณภาพ 

        เนื่องจากระบบนิเวศในการเลี้ยงดูเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากข้อมูลรายงานสถานการณ์เด็กและสตรีประเทศไทย พศ. 25655 พบว่า

  • ผู้เลี้ยงดู : เด็ก อายุ 0-17 ปีไม่ได้อยู่กับแม่ ผู้ดูแลหลักเป็นปู่ ย่า ตา ยาย มีมากถึงร้อยละ 0ครัวเรือน ที่มีโทรศัพท์มือถือ มีร้อยละ 96.0 ครัวเรือนสามารถเข้าถึง อินเทอร์เนทจากอุปกรณ์ใดใดที่บ้านมีร้อยละ 82.6 เด็กมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อายุ 0-1 ร้อยละ 27 อายุ 2-4 ปี ร้อยละ 80.4
  • ด้านสุขภาพพบ เด็กมีพัฒนาการตามเกณฑ์ ร้อยละ 8 ทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 6 เดือนแรก เพียงร้อยละ 28.6 ที่อายุ 1 ปี ยังกินนมแม่เพียงร้อยละ 31.3 และที่อายุ 2 ปียังมีการใช้จุกขวด ร้อยละ 78.6 และที่อายุ 2 ปีกินนมแม่เพียงร้อยละ 18.7 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกรน ร้อยละ 12.5 มีพัฒนาการสมวัยเพียง ร้อยละ 77.8
  • เด็กอายุ 1-2 ปี ได้รับการเลี้ยงดูอบรมเพื่อให้มีวินัยโดยได้รับความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ  0 และเป็นไปอย่างรุนแรง ร้อยละ 1.4 **  ได้รับความรุนแรงทางจิตใจ ร้อยละ 27.9 (การลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง ได้แก่ 1) การตีหรือตบเด็กที่หน้า ศีรษะหรือหู 2) ตีเด็กอย่างรุนแรง หรือตีเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างหนัก เท่าที่ทำได้)

จะเห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับ ระบบนิเวศในการเลี้ยงดูเด็กสำคัญ 3 เรื่อง คือ

  • พ่อแม่ต้องทำงานไม่สามารถเป็นหลักในการเลี้ยงลูก มีผลกระทบกับการให้การเลี้ยงดูคุณภาพ ทั้งในด้านสุขภาพและอารมณ์จิตใจ  
  • เทคโนโลยี อินเตอร์เนต ไวไฟเข้าถึงครัวเรือน มีผลกระทบกับขบวนการสื่อสารและการเรียนรู้ เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียวและมีการเปลี่ยนรูปแบบรวดเร็ว รวมทั้งถ้าไม่มีคนดูแลควบคุมเนื้อหา เกิดความเสี่ยงสูงในการที่เด็กจะซึมซับพฤติกรรมไม่เหมาะสมไปอย่างไม่รู้ตัว
  • ระบบและวิธีการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ผลลัพธ์การเลี้ยงดูที่เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น หรือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ มีปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพกาย หรือมีพฤติกรรม ที่มีปัญหา เช่น เกเร ต่อต้าน ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น ไม่มีมารยาท ย่อท้อไม่มุ่งมั่นพยายาม ฯลฯ การศึกษาติดตามระยะยาวและความรู้ด้านจิตวิเคราะห์และพัฒนาการแด็ก การเลี้ยงดูที่สร้างความกดดัน เช่น การห้าม ดุ บังคับ หรือการลงโทษรุนแรง ทั้งด้านร่างกายหรือจิตใจ การไม่มีตัวอย่างกิริยามารยาทหรือพฤติกรรมที่ดี การไม่เข้าใจพัฒนาการอารมณ์ เด็ก เช่น ง่วง หิว เหนื่อย เป็นตัวอย่างการขัดขวางพัฒนาการเด็กในระยะการสร้างตัวตน ส่งผลให้เกิดความเครียดและมีผลต่อโครงสร้างสมองที่มีการพัฒนาถึงร้อยละ 80 ใน 3 ขวบปีแรก

          ข้อมูลและผลลัพธ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง ข้อจำกัดของครอบครัวไทยทั้งในด้านคนเลี้ยงดู ความรู้ในวิธีการเลี้ยงดู ควรต้องมีผู้ทำแทน และในยุคโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรงที่เราต้องช่วยกันสร้างให้เด็ก มีต้นทุนสุขภาะที่ดี ร่วมกับต้นทุนคุณลักษณะพร้อมอยู่ในศตวรรษนี้ การจัดระบบบริการ เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ จึงเป็นทางเลือกที่มีความจำเป็นที่จะช่วยให้หนุ่มสาวมั่นใจว่าถ้ามีลูกลูกจะมีระบบการเลี้ยงดูแลลูกที่สะดวกและมีคุณภาพ   

3. เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ ต้องมีการดำเนินการอะไร

ควรมีการดำเนินการ ดังนี้                                                                                                 

          3.1   การดำเนินการให้เกิดต้นทุนสุขภาวะที่ดี สำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้นทุนสุขภาวะที่สำคัญคือต้นทุนด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตและพัฒนาการ ซึ่งจะได้จากขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ดีเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่ โดยให้มีการเตรียมแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหาร ออกกำลัง เตรียม เต้านม การดูแลสุขภาพจิตที่ดี ฯลฯ เมื่อแรกคลอด เน้นให้ลูกได้ดูดกระตุ้นเต้านมภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดและให้ได้รับการโอบกอดแบบเนื้อแนบเนื้ออย่างจริงจัง นมแม่เป็นทั้งขบวนการการให้อาหารและการเลี้ยงดู (Duo) สารอาหารในนมแม่มีประโยชน์ที่เป็นจุดเด่นที่นมหรืออาหารอื่นไม่สามารถแทนได้  คือประเด็น ภูมิคุ้มกันที่ในนมแม่มี ทั้งระดับเซลล์ สารคัดหลั่งและสารชีวภาพต่าง ๆ จึงช่วยลดปัญหาการติดเชื้อ ช่วยการเจริญเติบโตอวัยวะต่าง ๆ ได้ ในระยะ 10-20 ปีมานี้ มีองค์ความรู้สนับสนุน จุดเด่นของนมแม่ใน เพิ่มเติม อาทิ สาร Human Milk Oligosaccharides (Nutrition Reviews; 72(6):377-389)     ตัวช่วยในกลไกการป้องกันการติดเชื้อทั้งทางเดินอาหารทางเดินหายใจ และการช่วยให้การทำงานของ เยื่อบุต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ น้ำนมแม่มีสาร HMOs จำนวนมากกว่า 100 ชนิด มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับในนมวัวที่มีเพียงน้อยนิด (8% VS < 0.1%) แม้ในนมผสมที่มีการเติมสาร oligosaccharides ก็เติมได้เพียงเล็กน้อยไม่กี่ชนิด ในระยะ 5-10 ปีนี้ การศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ สุขภาพ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีผลต่อการเกิดความอุดมสมบูรณ์ของจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งมีมากในระบบทางเดินอาหาร - Gut Microbiome การทำงานจุลินทรีย์กลุ่มนี้ มีผลต่อสุขภาพที่ดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวของลูก โครงการ CHILD STUDY ของ ประเทศแคนาดา พบว่าการเสียสมดุลของไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักเกิน หอบหืด เบาหวาน ภูมิแพ้และปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ (ตามตาราง ) และจุลินทรีย์เหล่านี้ ยังมีบทบาทช่วยในการดูดซึมอาหาร สร้างวิตามิน กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยระบบเมตาโบลิซึมการเผาผลาญอาหารต่าง ๆ นมแม่เป็นอาหารชั้นดีของจุลินทรีย์สุขภาพ และตัวนมแม่ก็มีจุลินทรีย์สุขภาพ การคลอดปกติ การดูดนมจากเต้า ช่วยส่งเสริมให้จุลินทรีย์สุขภาพจะเข้าไปฝังในลำไส้ทารก และมีกลไกสื่อสารกับระบบการอักเสบกับอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ลดปัญหา NCDs ดังกล่าวข้างต้น มีรวมนำเสนอในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 7 เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และมีข้อมูลการศึกษาล่าสุด (July 11, 2023) ในวารสาร Neuroscience เรื่อง Breast Milk Component Boosts Infant Brain Connectivity นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale  พบว่าสาร “Myo-inositol” ซึ่งเป็นสาร bioactive ในน้ำนมแม่ มีผลกระตุ้นให้เกิด การเชื่อมต่อ (synapses) เส้นใยประสาท จะมีมากในระยะเริ่มต้นน้ำนมแม่คือสัปดาห์แรกและขึ้นกับอาหารที่แม่ได้รับ นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ ในการเสริมความสำคัญประโยชน์นมแม่ในการสร้างโครงสร้างสมองซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับ ปลูกฝังการเรียนรู้ของเด็กต่อไป

  นมแม่ นมดัดแปลงสำหรับทารก
หอบหืด 1 1.7
อ้วน 1 2
ออทิสติก 1 1.81

          จะเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นขบวนการธรรมชาติที่ส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพดีจากตัวน้ำนมแม่ และมีสุขภาวะดีจากการเลี้ยงดูของแม่ที่อยู่ใกล้ชิด ในวัยนี้แม่หรือผู้เลี้ยงดูจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในการที่จะทำให้เด็กเกิดผลลัพธ์ของการมีสุขภาวะ ถ้าพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเข้าใจและมีทักษะในการเลี้ยงดูที่สร้างให้เด็กเกิดความรู้สึก เชื่อใจ( trust) และมีการพัฒนาตัวตน (self) ตามแผนภาพปิรามิด ทั้งขบวนการสร้าง trust และ self ที่แข็งแรง  เป็นต้นทุนให้เด็กเกิดความรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงทางจิตใจ (safe & security) เป็นหัวใจของการพัฒนาต่อยอดพัฒนาการในลำดับต่อ ๆ ไป ส่งผลกลับสู่การมีสุขภาวะที่ดี

          อนึ่งขบวนการให้อาหารคุณภาพ นอกจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังหมายรวมถึงการได้รับอาหารตามวัยอย่างถูกต้อง และการได้รับการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ( NCDs- Non Communicable Diseases) เช่น การไม่ปฏิเสธผัก เป็นต้น  

          3.2 การดำเนินการให้เกิด ต้นทุนคุณลักษณะพร้อมอยู่ในศตวรรษที่ 21 เด็กที่เกิดน้อยในยุคนี้จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูเพื่อนำสู่เป้าหมาย ทั้งการมีสุขภาวะที่ดี และมีคุณลักษณะ ทักษะ พร้อมอยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหมายถึง ทักษะความสามารถในการดำรงชีวิต ในการแก้ไขปัญหาซับซ้อน และมีบุคลิกภาพคุณภาพ ตามภาพประกอบ  เป็นคุณลักษณะที่จะทำให้เด็กเมื่อเติบโตขึ้น  มีต้นทุนคุณลักษณะเพื่อนำไปพัฒนาทักษะต่างๆในการแก้ไขปัญหา ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง เมื่อเด็กโตขึ้น เช่น  เทคโนโลยี่ AI ทำให้อาชีพที่คุ้นชิน หายไป เด็กจะมีคุณลักษณะที่จะพาตัวเองเรียนรู้และปรับทักษะตัวเองให้ประกอบอาชีพใหม่ หรือคิดอาชีพใหม่ได้  เช่น  อาชีพเกี่ยวกับรถทีใช้น้ำมันจะลดลง เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด สมัยก่อนอาจช้าๆ ยุคนี้ จะ  เป็นไปอย่างปุบปับ  ฯลฯ  เป็นเรื่องไม่ไกลตัว การเลี้ยงดูต้องปูทางเตรียมสมองให้พร้อม

          การเลี้ยงเด็กให้มีสุขภาวะดีและมีต้นทุนคุณลักษณะพร้อมอยู่ในศตวรรษที่ 21 มีความชัดเจนว่าจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง ดังประเด็นตัวอย่างบางเรื่องในข้อ 2   แต่จะพัฒนาอย่างไร เป็นความท้าทายที่สำคัญในระดับโลก เป็นโอกาสดีมากที่ Unicef และองค์การอนามัยโลก (ค.ศ.2018) ได้จัดทำ กรอบการดำเนินงาน “การดูแลอย่างเอาใจใส่เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้าน (nurturing care for early childhood development) อันประกอบด้วยการเอาใจใส่ด้าน   ให้เด็ก 1. มีสุขภาพดี  2. ได้รับโภชนาการที่เพียงพอ  3. การดูแลตอบสนองอย่างใส่ใจ (ต่อความต้องการและรู้สึกของเด็ก) 4. การมีความมั่นคงปลอดภัย และ 5. มีโอกาสการเรียนรู้และตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของชีวิต  องค์ประกอบทั้ง 5 เกี่ยวข้องกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การส่งเสริมการเลี้ยงดู ให้ครบใน 5 ด้านดังกล่าว  เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าจะเป็นหลักประกันที่ดีในการส่งเสริมให้เด็ก มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างรอบด้าน ได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

4. รูปธรรมการจัดบริการ เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ

          จากประสบการณ์ การจัดทำโครงการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่และการเลี้ยงดูแบบบูรณาการ เด็ก 3 ขวบ ปีแรก ในเดย์แคร์นมแม่ 7 แห่ง ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง กระทรวงศึกษาธิการ 2 แห่งและ กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ทุกแห่งผ่านการประเมินตัวเอง ในระดับ A หมายถึงประเมินผ่านเกินร้อยละ 80  ภาพรวมรูปธรรมการจัดบริการ ที่ทุกหน่วยเห็นพ้องว่าควรมีการปรับปรุง เพื่อให้สอดรับแนวทาง การดูแลอย่างเอาใจใส่ เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้าน ผ่านขบวนการในกิจกรรมรายวัน  ดังนี้

  1. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Nutrition)
  2. การให้อาหารตามวัย
  3. การปลูกฝังพฤติกรรม ลดเสี่ยง โรคกลุ่ม NCDs เช่น ไม่ปฏิเสธผัก
  4. Good Health และ สุขภาพปากและช่องฟัน (Good Health)
  5. การคัดกรองพัฒนาการ DSPM และ early detection (Red Flag)
  6. การให้ความสำคัญ การสร้าง ความรู้สึก ปลอดภัยและมั่นคง (Safe and Security)
  7. การเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ (Responsive Care)
  8. การเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ ในทุกโอกาส (Opportunity for early learning)
  9. การใส่ใจปลูกฝัง รักโลก รักสิ่งแวดล้อม
  10. การใส่ใจภัยสุขภาพจากเทคโนโลยี
  11. ภาษาที่ 2
  12. การพัฒนาสถานที่ อุปกรณ์และของใช้ในอาคาร
  13. การพัฒนาสนามเด็กเล่น
  14. การพัฒนาคุณภาพครู ผู้ดูแลเด็ก
  15. การเชื่อมต่อผู้ปกครอง

ขอยกตัวอย่างรูปธรรม กิจกรรมที่ควรจัดให้มีในการเลี้ยงดูเด็กรายวัน 

  1. กลุ่มแนวทางโภชนาการ (Nutrition) เดย์แคร์จัดระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้แม่ท้องที่ต้องการพาลูก มาใช้บริการเดย์แคร์ สนใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อจะรับเด็กเข้าเดย์แคร์ ให้คำแนะนำในการเตรียมนมแม่ มาส่งและมีการเตรียมพื้นที่ให้แม่มาให้นมได้ เรื่องการให้อาหารตามวัยนอกจากชนิดและปริมาณอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อ ให้ให้ความสำคัญในการให้เด็กอยากกินอาหาร และจัดการเอาอาหารเข้าปากเอง เช่น มีพื้นที่ทำอาหารง่าย ๆ และหรือพาดูวิธีทำอาหาร และจัดภาชนะพื้นที่ให้เหมาะสมกับการให้เด็กฝึกกินเองได้ เรื่องการไม่ปฏิเสธผัก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญในการวิตามินเกลือแร่และสารป้องกันการอักเสบในโรคกลุ่ม NCDs ให้จัดระบบในเดย์แคร์ให้เด็กมีส่วนร่วมในการปลูกผัก เก็บ ล้าง หั่น และนำผักปรุงอาหาร จัดเมนูและมีวิธีให้เด็กกินเป็นเวลา และกินได้เอง  เป็นต้น
  2. กลุ่มแนวทางการส่งเสริมสุขภาพดี (Good Health) ให้ความสำคัญกับการได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการดังกล่าวข้างต้น พื้นที่เลี้ยงเด็กมีการถ่ายเทอากาศ ภาชนะของใช้ อุปกรณ์การเล่นไม่เสี่ยงการติดต่อของเชื้อโรค มีการดูแลสุขภาพฟัน เช่นการตรวจคราบจุลินทรีย์ (กรมอนามัย) การตรวจคัดกรอง พัฒนาการตามแนว DSPM การจัดเวลาและพื้นที่เพื่อการออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง อย่างจริงจัง
  3. กลุ่มแนวทางการเลี้ยงดู สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ให้กับเด็ก (Safe & Security) เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นหัวใจของการจะก้าวต่อของพัฒนาการอื่น ๆ (จิตใจมีอิทธิพลมากกว่าร่างกาย)  เด็ก 3 ขวบปีแรกยังไม่พร้อมการแยกจาก (separation) จากครอบครัว นอกจากจะให้พ่อแม่เตรียมตัวเด็ก เช่นทำความรู้จักครู พื้นที่เดย์แคร์ การจะมารับลูกกลับเป็นเวลา ก็ควรให้มีพี่เลี้ยงที่เด็กให้ความไว้วางใจ มีเวลาดูแลเฉพาะ และถ้าเป็นไปได้ควรยืดหยุ่นให้ผู้เลี้ยงดูเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนเด็กในเดย์แคร์ได้ จนกว่าเด็กจะพร้อมแยกจาก การจัดพื้นที่ในเดย์แคร์ที่ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เด็กสามารถวิ่ง เล่น ทำกิจกรรม ง่ายไม่ต้องเจอคำห้าม ดุ บ่อย ๆ  การใช้โทนเสียงนุ่มนวล ในการคุย การปฏิบัติต่อเด็กอย่างให้เกียรติ เช่นการย่อตัวลดระดับคุยกับเด็ก เป็นต้น
  4. กลุ่มการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ (Responsive Care) ครูพี่เลี้ยงเดย์แคร์นมแม่คุณภาพ เข้าใจการตอบสนองความสนใจ ของเด็กอย่างเหมาะสม จากพื้นฐานเด็กวัยนี้เพิ่งได้พบโลก การเห็นสิ่งใด ๆ ถ้าสนใจ เด็กจะอยาก สัมผัส อม จับ ถือ เขวี้ยง ปา เขย่า ฯลฯ การให้เวลาเด็กสัมผัส เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ครูไม่ควรรีบห้าม หรือหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ตราบใดที่ไม่ได้ทำเกิดปัญหา ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น และทำร้ายสิ่งของ รวมทั้งการต่อยอด กระตุ้นการอยากรู้ และเติมความรู้ วันละเล็กละน้อย เป็นต้น
  5. กลุ่มการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นวัย (Opportunity for early learning) เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ เข้าใจ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกวัย และเรียนรู้กับ วิถีปฏิบัติของครูพี่เลี้ยง หรือสิ่งรอบตัวหรืออุปกรณ์ของใช้    ทั่วไป ได้  เช่น พาเด็กอาบน้ำ สัมผัส เสียงพูด อธิบายว่ากำลังทำอะไร พาเด็กถอดรองเท้าคุยกับเด็กเรื่องรองเท้า  พาเก็บ พาเคาะผงฝุ่น จับรองเท้านิ่มแข็ง  พาเด็กดูต้นไม้ใบไม้เด็ดฉีก ผีเสื้อ รังมด ฯลฯ
  6. สำหรับ หัวข้อ การใส่ใจปลูกฝัง รักโลก รักสิ่งแวดล้อม การใส่ใจภัยสุขภาพจากเทคโนโลยี ภาษาที่ 2 การพัฒนาสถานที่ อุปกรณ์และของใช้ในอาคาร การพัฒนาสนามเด็กเล่น การพัฒนาคุณภาพครู ผู้ดูแลเด็ก การเชื่อมต่อผู้ปกครอง เป็นหัวข้อที่เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ ต้องพัฒนาให้เกิดรูปธรรมการนำสู่การเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตร ทั้งของกรมอนามัย สถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ของสวนเด็กสุทธาเวช ของภาคเอกชนและต่างประเทศ ที่มีการกล่าวถึงวิธีการเหล่านี้

          จะเห็นว่ารูปธรรมกิจกรรมต่าง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่นการส่งเสริม good health เกี่ยวเนื่องกับทั้งโภชนาการ และการปรับปรุงสนามเด็กเล่น การเลี้ยงดูเอาใจใส่ก็เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโอกาสการเรียนรู้แต่เบื้องต้น จากประสบการณ์การลงเยี่ยมเดย์แคร์นมแม่คุณภาพทั้ง 7 แห่ง มีความพยายามในการปรับปรุง การดำเนินกิจกรรม ในแนว 15 ข้อรูปธรรม ในระดับทีมีการแตกต่างกันบ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ปัจจัยที่จะช่วยให้เดย์แคร์นมแม่คุณภาพเกิดได้มากขึ้นคือ

  1. นโยบายผู้บริหาร
  2. สังคมเห็นความสำคัญของ การปลูกฝังโครงสร้างสมองในเด็ก 3 ขวบปีแรก
  3. มีระบบการโคช ครูพี่เลี้ยงให้เข้าใจหลักการการเลี้ยงดู
  4. การปรับสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น รก ร้อน สีสันฉูดฉาด ฯลฯ
  5. มีอัตราครู ต่อ จำนวนเด็กตามมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัย
  6. มีระบบการดูแลบุคลากร ให้มีความสุขและมีสุขภาวะที่ดี

5. เรามีเดย์แคร์นมแม่ มากน้อยอย่างไร ขยายผลจะเป็นไปได้อย่างไร

          เดย์แคร์ หรือคือสถานพัฒนาเด็กสังกัดกระทรวงศึกษาและศูนย์เด็กเล็กสังกัดมหาดไทย รวมกันประมาณ  50,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดจะรับเด็กรับเด็กช่วงอายุ 2 ปี ถึง 2 ½ ปี ถึง 3 ปี ขึ้นไป สำหรับเดย์แคร์ ที่จะรับเลี้ยงดูเด็ก กลุ่มอายุ ต่ำกว่า 2 หรือ 3 ปีลงมา มีน้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีประมาณ ประมาณ 50 กว่าแห่ง โรงพยาบาลหน่วยงานต่าง ๆ  และภาคเอกชน รวมกันประมาณ 1000 แห่ง จำนวนยังมีน้อยมาก แต่สามารถมีการขยายผล ผ่านการเชิญชวนให้ศูนย์เด็กเล็กของกระทรวงมหาดไทย เปิดรับทารกและเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ½ ปีลงมา ซึ่งกรมอนามัยได้ดำเนินการประสาน เริ่มมีความสนใจให้ความร่วมมือ แต่ยังต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบายเพิ่มเติม

6. ข้อเสนอเชิงนโยบาย

          มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย สนับสนุนนโยบายการส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และเห็นความสำคัญการต้องให้คนไทยมีบุตรที่มีคุณภาพ มีชีวิตที่มีสุขภาวะและมีต้นทุนทักษะพร้อมอยู่ในศตวรรษนี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรง คาดเดาไม่ง่าย โดยขอเสนอให้มีการจัดระบบบริการรองรับการให้การเลี้ยงดูทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นช่องโหว่ (gap) ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พ่อแม่ต้องทำงาน เด็กไม่มีผู้ดูแลที่มีคุณภาพ  โดยการจัดและขยายผลให้เกิด เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ โดย

  1. บรรจุการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในกลวิธีส่งเสริมลูกคุณภาพ
  2. เร่งรัดการพัฒนาครูพี่เลี้ยงให้มีความเข้าใจและมีทักษะการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ตามกรอบการให้การดูแลอย่างเอาใจใส่ขององค์การอนามัยโลก7 และมีกลวิธีการเลี้ยงดูเหมาะกับบริบทท้องถิ่น
  3. เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพต้นแบบ อย่างน้อย 1 แห่งในทุกเขตสุขภาพ และมีการขยายผลครอบคลุมร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี  
  4. ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญการบูรณาองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญ จากทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะทางการแพทย์  

เอกสารประกอบข้อมูล

  1. เวทีสนทนานโยบายสาธารณ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย : ปัญหาและทางออก” ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) 15 ก.ย.2566
  2. Center on the Developing Child, Harvard University, ‘Key Concepts: Brain architecture’ accessed 2 March 2018. This source indicates that there are more than 1 million new neural connections for each second in the early years of a child’s life
  3. Heckman, James J., Moon, Seong Hyeok, Pinto, Rodrigo, Savelyev, Peter A. and Yavitz, Adam 13 Q.(2010)."Analyzing Social Experiments as Implemented: A Reexamination of the Evidence 14 from the High Scope Perry Preschool Program. "QuantitativeEconomics1(1): 1- 46.
  4. รายงานผลฉบับสมบูรณ์ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ เผยแพร่ กรกฎาคม 2566
  5. VUCA World – โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ฉับพลัน ตั้งตัวไม่ทัน มาจากควาหมาย ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) 
  6. The Diorama Project: Development of a Tangible Medium to Foster STEAM Education Using Storytelling and Electronics. June 2018, Smart Innovation DOI:10.1007/978-3-319-61322-2_17 ( WEF World Economic Forum 2018 )
  7. โครงการย่อย “การพัฒนาเดย์แคร์นมแม่โดดเด่น” ใน โครงการ “สร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล”  มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย  พ.ศ. 2565-2566 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. **
  8. The Nurturing Care Framework, WHO 2018
  9. โรงเรียนพ่อแม่ คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ Private 21 ม.ค. 2563
  10. Straus, M. and M. Paschall. "Corporal Punishment by Mothers and Development of Children’s Cognitive Ability: A Longitudinal Study of Two Nationally Representative Age Cohorts." Journal of Aggression, Maltreatment & Trauma 18, no. 5 (2009): 459-83.
  11. Erickson, M. and B. Egeland. "A Deveกคd8lopmental View of the Psychological Consequences of Maltreatment." School Psychology Review 16, no. 2 (1987): 156-http://psycnet.apa.org/record/1987-29817-001.;
  12. Schneider, M. et al. "Do Allegations of Emotional Maltreatment Predict Developmental Outcomes beyond That of Other Forms of Maltreatment?" Child Abuse & Neglect 29, no. 5 (2005): 513-32. doi:10.1016/j.chiabu.2004.08.010.

**(1) สถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดขอนแก่น (2) สวนเด็กสุทธาเวช โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (3) สถานเลี้ยงเด็กกลางวันสำหรับครอบครัวนมแม่ ศูนย์อนามัยที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (4) ศูนย์เด็กเล็กบ้านเด็ก โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช (5) ศูนย์เด็กเล็กวัลลภไทยเหนือ กรมอนามัย (6) ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กรุงเทพมหานคร (7) ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้นำเสนอ  พญ. ศิริพร  กัญชนะ  ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

คณะทำงาน       

ศ.คลินิก พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร   ประธานคณะทำงานการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่โดดเด่น                                                   

รศ. พญ.กุสุมา ชูศิลป์                    คณะทำงาน ฯ

พญ.ชนนิกานต์ ทิพากรโรจนกิจ    คณะทำงาน ฯ

พว.ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ              คณะทำงานฯ